อาเซียนน่ารู้
สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations)
คำขวัญ
"One Vision, One Identity, One Community"
(หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งเอกลักษณ์ หนึ่งประชาคม)
สัญลักษณ์อาเซียน
ต้น ข้าวสีเหลือง 10 ต้น มัดรวมกันไว้ หมายถึง ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้ง 10 ประเทศรวมกัน เพื่อมิตรภาพและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน โดยสีที่ปรากฏในสัญลักษณ์ของอาเซียน เป็นสีที่สำคัญของธงชาติของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน
สีน้ำเงิน หมายถึง สันติภาพและความมั่นคง
สีแดง หมายถึง ความกล้าหาญและความก้าวหน้า
สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์
สีเหลือง หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง
การก่อตั้ง
สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน ก่อตั้งขึ้นโดยปฏิญญา กรุงเทพฯ (Bangkok Declaration) ซึ่งลงนามโดยรัฐมนตรีของ 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 ต่อมาประเทศบรูไน ดารุสซาลาม เข้าเป็น สมาชิกประเทศที่ 6 เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2527 เวียดนามเข้าเป็นสมาชิกประเทศที่ 7 เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2538 ลาวและพม่าเข้าเป็นสมาชิกประเทศที่ 8 และ 9 ตามลำดับ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2540 และกัมพูชาเป็นสมาชิกประเทศที่ 10 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2542
อาเซียนปัจจุบันประกอบด้วยประชากรรวมกันประมาณ 500 ล้านคน ครอบคลุมพื้นที่ 4.5 ล้านตารางกิโลเมตร
วัตถุประสงค์ของการก่อตั้งสมาคมอาเซียน
วัตถุประสงค์ของการก่อตั้งสมาคมอาเซียน ตามปฏิญญากรุงเทพฯ คือ
เพื่อส่งเสริมความร่วมมือ และความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และการบริหาร
เพื่อส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงส่วนภูมิภาค
เพื่อเสริมสร้างความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและพัฒนาการทางวัฒนธรรม ในภูมิภาค
เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนในอาเซียนมีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดี
เพื่อให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในรูปของการฝึกอบรมและการวิจัย และส่งเสริม การศึกษาด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการเกษตรและอุตสาหกรรม การขยายการค้า ตลอดจน การปรับปรุงการขนส่งและการคมนาคม
เพื่อเสริมสร้างความร่วมมืออาเซียนกับประเทศภายนอก องค์การความร่วมมือ แห่งภูมิภาคอื่นและองค์การระหว่างประเทศ
โครงสร้างของอาเซียน
โครงสร้างของอาเซียน โครงสร้างของอาเซียนจะประกอบด้วยส่วนสำคัญ ดังนี้
สำนักเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat) สำนักเลขาธิการอาเซียนได้จัดตั้งขึ้นตามข้อตกลงที่ลงนามโดยรัฐมนตรีต่าง ประเทศ อาเซียนในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 1 ในปี 2519 เพื่อทำหน้าที่ประสานงานและ ดำเนินงานตามโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ของสมาคมอาเซียน และเป็นศูนย์กลางในการติดต่อระหว่าง สมาคมอาเซียน คณะกรรมการ ตลอดจนสถาบันต่าง ๆ และรัฐบาลของประเทศสมาชิก
สำนัก เลขาธิการอาเซียนตั้งอยู่ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย โดยมีหัวหน้า สำนักงานเรียกว่า “เลขาธิการอาเซียน” ซึ่งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2545 ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ อาเซียน ครั้งที่ 35 ได้แต่งตั้งนาย Ong Keng Yong” ชาวสิงคโปร์ เป็นเลขาธิการอาเซียนคนใหม่แทนนาย Rodolfo C. Severino Jr. เลขาธิการอาเซียนคนปัจจุบัน โดยจะมีวาระในการดำรงตำแหน่ง 5 ปี (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2546) และมีรองเลขาธิการอาเซียนจำนวน 2 คน คือ Dr. Wilfrido V. Villacorta ชาวฟิลิปปินส์ และ Pengiran Mashor Pengiran Ahmad ชาวบรูไนฯ โดยจะมีวาระในการดำรงตำแหน่ง 3 ปี (ระหว่างปี 2546-2549)
สำนักงานอา เซียนแห่งชาติ หรือกรมอาเซียน (ASEAN National Secretariat) เป็นหน่วยงานในกระทรวงการต่างประเทศของประเทศสมาชิก ซึ่งแต่ละประเทศ ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบประสานงานเกี่ยวกับอาเซียนในประเทศ นั้น ๆ และติดตามผล ของการดำเนินกิจกรรม/ความร่วมมือต่าง ๆ สำหรับประเทศไทยนั้น ได้มีการจัดตั้งกรมอาเซียน ให้มีหน้าที่รับผิดชอบในการปฏิบัติงานด้านอาเซียนดังกล่าว
กลไกในการกำหนดนโยบายและการดำเนินงาน
กลไกในการกำหนดนโยบายและการดำเนินงาน
การประชุมระดับหัวหน้ารัฐบาลอาเซียนหรือการประชุมสุดยอดอาเซียน (The Meeting of the ASEAN Heads of State/Government – ASEAN Summit)
การ ประชุมหัวหน้ารัฐบาลอาเซียนเป็นกลไกสูงสุดในการกำหนดนโยบายและแนวทาง ความร่วมมือของอาเซียน โดยนับตั้งแต่มีการจัดตั้งสมาคมอาเซียนเป็นต้นมาได้มีการประชุมสุดยอด อาเซียนอย่างเป็นทางการไปแล้วรวม 8 ครั้ง คือ พ.ศ. 2519 ณ ประเทศอินโดนีเซีย พ.ศ. 2520 ณ ประเทศมาเลเซีย พ.ศ. 2530 ณ ประเทศฟิลิปปินส์ สำหรับการประชุมครั้งที่ 4 ได้มีขึ้นใน พ.ศ. 2535 ณ ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งในครั้งนั้น ที่ประชุมได้มีมติให้จัดการประชุมสุดยอดอาเซียนอย่าง เป็นทางการทุก ๆ 3 ปี การประชุมครั้งที่ 5 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเมื่อวันที่ 14-15 ธันวาคม 2538 ณ กรุงเทพฯ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ผู้นำของประเทศทั้ง 10 ประเทศในภูมิภาคได้มี โอกาสมาพบปะกันอย่างพร้อมเพรียง โดยได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างผู้นำอาเซียน 7 ประเทศ กับผู้นำรัฐบาลกัมพูชา ลาว และพม่า และที่ประชุมฯ ยังได้มีมติให้มีการพบปะหารือระหว่างผู้นำ รัฐบาลอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการในระหว่างที่ไม่มีการประชุมสุดยอดอาเซียน ด้วย การประชุมครั้งที่ 6 ณ ประเทศเวียดนาม เมื่อเดือนธันวาคม 2541 ซึ่งได้มีการร่วมลงนามในเอกสารสำคัญ คือ Hanoi Declaration, Hanoi Plan of Action, Statement on Bold Measures ฯลฯ การประชุมครั้งที่ 7 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-6 พฤศจิกายน 2544 ณ บันดาร์ เสรี เบกาวัน ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม ซึ่งได้มี การร่วมลงนามในเอกสารสำคัญคือ ปฏิญญาอาเซียน ค.ศ. 2001 ว่าด้วยการดำเนินการร่วมในการต่อต้านการก่อการร้ายและปฏิญญาการประชุมสุดยอด อาเซียน ครั้งที่ 7 เกี่ยวกับโรคเอดส์ และการประชุม สุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 8 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-5 พฤศจิกายน 2545 ณ กรุงพนมเปญ
นอกจากนี้ ได้มีการประชุมสุดยอดอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (ASEAN Informal Summit) ครั้งที่ 1 เมื่อพ.ศ. 2539 ณ กรุงจาการ์ตา ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 14-16 ธันวาคม 2540 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2542 ณ กรุงมะนิลา และครั้งที่ 4 ระหว่าง วันที่ 24-25 พฤศจิกายน 2543 ณ สิงคโปร์
ในการประชุมสุดยอดอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 4 ที่สิงคโปร์ ที่ประชุมได้ เห็นชอบที่จะเรียกการประชุมครั้งต่อไปว่า “การประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ซึ่งจะมี การประชุมทุกปี ทั้งนี้ ให้เน้นการหารือที่เป็นสาระและลดขั้นตอนด้านพิธีการ โดยการประชุมสุดยอด อาเซียนเมื่อวันที่ 5-6 พฤศจิกายน 2544 ณ ประเทศบรูไน ดารุสซาลามจัดเป็นการประชุมสุดยอด อาเซียน ครั้งที่ 7 และจะเรียงตามลำดับครั้งทุกปีไป
การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน (ASEAN Ministerial Meeting – AMM)
เป็น การประชุมประจำปีของรัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียน และอาจจัดให้มีการ ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนสมัยพิเศษ (ASEAN Foreign Ministers’ Retreat) ขึ้นได้ตาม ความจำเป็น เพื่อรับผิดชอบในการกำหนดแนวทางในระดับนโยบายและทำหน้าที่ทบทวนข้อตัดสินใจ ต่าง ๆ มอบนโยบายและโครงการให้คณะกรรมการประจำอาเซียนหรือคณะกรรมการอื่น ๆ ดำเนินการต่อไป นอกจากนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจะเป็นผู้ลงนามในความตกลงที่เกี่ยวกับความร่วมมือด้าน ต่าง ๆ ของอาเซียนด้วย การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน สมัยที่ 35 จัดขึ้นที่บันดาร์ เสรี เบกาวัน ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม- 1 สิงหาคม 2545 และการประชุมรัฐมนตรี ต่างประเทศอาเซียน สมัยที่ 36 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-19 มิถุนายน 2546 ที่กรุงพนมเปญ
การประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศ คู่เจรจา (Post Ministerial Conferences – PMC)
ภาย หลังการประชุม AMM ในแต่ละปี รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนจะร่วมประชุมกับ รัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศคู่เจรจา ร่วมและแยกเป็นรายประเทศ เพื่อหารือในเรื่องความร่วมมือ และความช่วยเหลือในโครงการต่าง ๆ ตลอดจนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในระดับนโยบายเกี่ยวกับ ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ การเมืองและความมั่นคงที่มีความสนใจร่วมกันกับประเทศคู่เจรจาดังกล่าว
การประชุมระดับรัฐมนตรีในสาขาอื่น ๆ ประกอบด้วย
- การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Ministers-AEM) ซึ่งจะหารือและพิจารณาร่วมกันเกี่ยวกับกิจกรรมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ทั้งในระดับภายในภูมิภาค และกับประเทศนอกกลุ่มเป็นประจำอย่างน้อยปีละครั้ง
- การประชุมคณะมนตรีเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA Council) ซึ่งเป็นผล จากการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 4 ที่ให้มีการกำกับดูแล ประสานงาน และทบทวนการดำเนินการ ตามความตกลงว่าด้วยโครงการลดภาษีศุลกากรให้เป็นอัตราเดียวกันสำหรับเขตการ ค้าเสรีอาเซียน โดยคณะมนตรีฯ ดังกล่าวจะรายงานต่อรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน
- การประชุมคณะมนตรีเขตการลงทุนอาเซียน (AIA Council) ที่จัดตั้งขึ้น เพื่อกำกับ ดูแล ประสาน และทบทวนการดำเนินงานตามความตกลงจัดตั้งเขตการลงทุนอาเซียน (ASEAN Investment Area)
- การประชุมรัฐมนตรีเฉพาะด้าน (Sectoral ASEAN Ministers’ Meeting) จัดขึ้นเป็นประจำเพื่อกำหนดแนวนโยบายและเร่งรัดการดำเนินกิจกรรมของคณะ กรรมการอาเซียน ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งริเริ่มโครงการความร่วมมือในด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านการเกษตรและป่าไม้ ด้านพลังงาน ด้านสังคม การพัฒนาชนบท ด้านการศึกษา ด้านกฎหมาย ด้านแรงงาน ด้านสาธารณสุข ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสารนิเทศ ฯลฯ
การประชุมในระดับคณะเจ้าหน้าที่
- ด้านการเมือง คณะเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน (ASEAN Senior Officials Meeting – SOM) ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการต่างประเทศของอาเซียน ทำหน้าที่ดูแลความร่วมมือของอาเซียนด้านการเมืองและความมั่นคง รวมถึงประเด็นสำคัญอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการเมือง
- ด้านเศรษฐกิจ คณะเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจ (ASEAN Senior Economic Officials Meeting – SEOM) ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงที่รับผิดชอบงานเศรษฐกิจของอาเซียน ทำหน้าที่ดูแลความร่วมมือของอาเซียนด้านเศรษฐกิจ
- คณะกรรมการประจำอาเซียน (ASEAN Standing Committee – ASC) คณะกรรมการประจำอาเซียนประกอบด้วยเลขาธิการอาเซียนและอธิบดีกรมอาเซียนของ แต่ละประเทศ สมาชิก ทำหน้าที่ดูแลดำเนินงาน ติดตามผล และพิจารณาทบทวนการปฏิบัติงานของอาเซียน เพื่อให้ เกิดความต่อเนื่องและอาจตัดสินใจในเรื่องเร่งด่วนได้ คณะกรรมการประจำอาเซียนนี้ ถือเป็นศูนย์กลาง ในการประสานงาน ดูแลรับผิดชอบงานด้านต่าง ๆ ทั้งนี้ โดยปกติจะมีการประชุมคณะกรรมการประจำ อาเซียนปีละ 4-5 ครั้ง ซึ่งประเทศที่เป็นประธานคณะกรรมการประจำอาเซียนจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ASC ครั้งแรกและครั้งสุดท้าย นอกนั้นจะจัดขึ้นที่สำนักเลขาธิการอาเซียน
- ด้านการคลัง คณะเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการคลังอาเซียน (ASEAN Deputy Finance and Central Bankers Meeting – AFDM) ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลังหรือผู้แทน
-เฉพาะด้าน เช่น คณะเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านยาเสพติด (ASEAN Senior Officials Meeting on Drugs Matters – ASOD) ด้านสิ่งแวดล้อม (ASEAN Senior Officials on the Environment – ASOEN) คณะกรรมการอาเซียนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ASEAN Committee On Science and Technology – COST) คณะเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา (ASEAN Senior Official on Social Welfare – SWD) คณะกรรมการอาเซียนด้านวัฒนธรรมและสนเทศ (ASEAN Committee on Culture and Information – COCI) คณะเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการพัฒนาชนบทและการแก้ไขปัญหาความยากจน (Senior Officials Meeting on Rural Development and Poverty Eradication – SOMRDPE) ฯลฯ 4.5.6 การประชุมร่วมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนกับอธิบดีอาเซียน (Joint Committee Meeting – JCM) เป็นการประชุมร่วมระหว่างเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน เจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจ และคณะกรรมการประจำอาเซียน (อธิบดีกรมอาเซียน) ที่จัดขึ้นเพื่อเตรียมการประชุมสุดยอดอาเซียนในแต่ละปี ทั้งด้านสารัตถะและพิธีการ
ความสัมพันธ์กับประเทศภายนอก (External Relations)
นอกจากความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกด้วยกันแล้ว อาเซียนยังได้มีความร่วมมือและสถาปนาความสัมพันธ์ในฐานะคู่เจรจากับ 10 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ อินเดีย จีน รัสเซีย และกับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ในกรอบอาเซียน+3 และโครงการเพื่อการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) แต่ละประเทศสมาชิก อาเซียนจะแบ่งกันทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา เหล่านี้ โดยจะมี การผลัดเปลี่ยนกันทุก ๆ 3 ปี ทั้งนี้ ในช่วงเดือนมิถุนายน 2546 จนถึงช่วงกลางปีของปี 2549 จะเป็นไปตามนี้
-บรูไน ประสานงานระหว่างอาเซียนกับแคนาดา
-กัมพูชา ประสานงานระหว่างอาเซียนกับจีน
-อินโดนีเซีย ประสานงานระหว่างอาเซียนกับสหภาพยุโรป
-ลาว ประสานงานระหว่างอาเซียนกับอินเดีย
-มาเลเซีย ประสานงานระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น
-พม่า ประสานงานระหว่างอาเซียนกับสาธารณรัฐเกาหลี
-ฟิลิปปินส์ ประสานงานระหว่างอาเซียนกับนิวซีแลนด์
-งคโปร์ ประสานงานระหว่างอาเซียนกับรัสเซีย
-ไทย ประสานงานระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ
-เวียดนาม ประสานงานระหว่างอาเซียนกับออสเตรเลีย
โดย อาเซียนได้มีการปรึกษาหารืออย่างสม่ำเสมอกับประเทศคู่เจรจาเหล่านี้ในลักษณะ การประชุมระดับ เจ้าหน้าที่ และการพบปะกันในระดับรัฐมนตรีในการประชุมที่เรียกว่า Post Ministerial Conferences (PMC) ซึ่งจะมีขึ้นภายหลังการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในทุกปี รวมทั้งการประชุมระดับผู้นำอาเซียน+3 และอาเซียน+1 (จีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี) และการประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย ซึ่งมีขึ้นภายหลังการประชุมสุดยอดอาเซียนในช่วงปลายปีของทุกปี
นอกจาก นี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนการดำเนินงานความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับ ประเทศคู่เจรจาและองค์การระหว่างประเทศ อาเซียนได้จัดตั้งคณะกรรมการในนครหลวงของประเทศ คู่เจรจา ที่เรียกว่า คณะกรรมการอาเซียนในประเทศที่สาม (ASEAN Committee in Third Country) คณะกรรมการเหล่านี้ประกอบด้วยหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูตของประเทศสมาชิกอา เซียนในประเทศ เจ้าภาพ มีหน้าที่ในการปรึกษาหารือและประสานงานกับรัฐบาลประเทศคู่เจรจาเกี่ยวกับ ความช่วยเหลือ และความร่วมมือที่ให้แก่ประเทศอาเซียน
ความร่วมมือด้านต่าง ๆ ในอาเซียน
เมื่อมองย้อนหลังในอดีต ประเทศไทยมีบทบาทที่สำคัญในการนำไปสู่การก่อตั้งสมาคม ความร่วมมือในภูมิภาคนี้ เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศผู้ใกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างประเทศที่เกิด ขึ้น ก่อนหน้าการก่อตั้งสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน เมื่อปี 2510 จนกระทั่งทำให้ ประเทศคู่กรณีสามารถที่จะยุติข้อพิพาทดังกล่าว และหันหน้ามาร่วมมือกัน ผลพวงของการสร้างความ เข้าใจอันดี โดยมีไทยเป็นประเทศกลางที่มีบทบาทสำคัญ โดยเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 ประเทศใน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ได้ร่วม ลงนามในปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration) ประกาศจัดตั้งสมาคมอาเซียน โดยมีการลงนามที่ห้องเทววงศ์ กระทรวงการต่างประเทศ วังสราญรมย์
ความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง ในด้านการเมืองและความมั่นคง อาเซียนได้มุ่งเน้นความร่วมมือเพื่อธำรงรักษาสันติภาพและความมั่นคงของ ภูมิภาคตลอดมา โดยได้มี การจัดทำและผลักดันให้ทุกประเทศในภูมิภาคให้ความสำคัญและยึดมั่นในสนธิสัญญา ไมตรีและความ ร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation หรือ TAC) ปี ค.ศ. 1976 ซึ่งถือว่าเป็นเอกสารที่กำหนดแนวทางการปฏิบัติในการดำเนินความสัมพันธ์ ระหว่างกันในภูมิภาค ที่มุ่งเน้นการสร้างสันติภาพและความมั่นคง ความเจริญรุ่งเรืองด้านเศรษฐกิจ และความร่วมมือระหว่างกัน นอกจากนี้ อาเซียนได้ร่วมลงนามในเอกสารด้านการเมืองอื่น ๆ อาทิ ปฏิญญาว่าด้วยภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้เป็นเขตแห่งสันติภาพ เสรีภาพและความเป็นกลาง (Zone of Peace, Freedom and Neutrality หรือ ZOPFAN) เมื่อปี ค.ศ. 1971 สนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty on the Southeast Asian Nuclear Weapon-Free Zone หรือ SEANWFZ) ปี ค.ศ. 1995 รวมทั้งได้ริเริ่มการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความ มั่นคง ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum – ARF) อันประกอบด้วยประเทศสมาชิกอาเซียน ประเทศคู่เจรจา และประเทศผู้สังเกตการณ์ของอาเซียน เพื่อเสริมสร้างความไว้วางใจกันระหว่างประเทศ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ ครั้งแรกขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2537 (ค.ศ. 1994)
ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ จากการที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกได้ เปลี่ยนไปภายหลังการเจรจาเปิดเสรีการค้ารอบอุรุกวัย และการแบ่งตลาดโลกออกเป็นกลุ่มภูมิภาค ไทยได้เห็นความจำเป็นที่จะต้องสร้างกลุ่มเศรษฐกิจในภูมิภาคเพื่อเสริมสร้าง อำนาจต่อรองของ ประเทศในภูมิภาคและศักยภาพในการผลิต ในปี 2535 (ค.ศ. 1992) ประเทศไทย โดยอดีต นายกรัฐมนตรี ฯพณฯ นายอานันท์ ปันยารชุน ได้เสนอให้อาเซียนร่วมมือกันอย่างจริงจังในการเปิดเสรี การค้าระหว่างกัน โดยผลักดันให้มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area – AFTA) เพื่อช่วยส่งเสริมการค้าภายในอาเซียนให้มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ลดต้นทุนการผลิตในสินค้า อุตสาหกรรมและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยประเทศสมาชิกเดิม 6 ประเทศได้ตกลงจะเร่งลดภาษีสินค้าในกรอบ AFTA ให้เร็วขึ้น โดยมีกำหนดลดภาษีสินค้าให้มีอัตราอยู่ที่ร้อยละ 0-5 ภายในปี 2545 (ค.ศ. 2002) นอกจากนี้ อาเซียนยังได้ตั้งเป้าที่จะลดภาษีสินค้าทั้งหมดลงมาอยู่ที่อัตราร้อยละ 0 ภายในปี ค.ศ. 2010 สำหรับสมาชิกเดิม และปี ค.ศ. 2015 สำหรับสมาชิกใหม่
ใน เวลาต่อมา อาเซียนได้ขยายความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจเพิ่มเติมจาก AFTA เพื่อให้การรวมตัวทางเศรษฐกิจมีความสมบูรณ์แบบและมีทิศทางที่ชัดเจน โดยได้ขยายความ ร่วมมือไปสู่การค้าบริการและการเชื่อมโยงทางด้านอุตสาหกรรม เช่น การจัดตั้งเขตการลงทุนอาเซียน (ASEAN Investment Area – AIA) ซึ่งลงนามโดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนเมื่อเดือนตุลาคม 2541 มีจุดประสงค์เพื่อให้อาเซียนมีความได้เปรียบและดึงดูดการลงทุนจากภายนอกและ ภายในภูมิภาค โดยการเปิดการตลาด (market access) และให้การปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ (national treatment) โดยมีการเร่งรัดให้ดำเนินการเรื่องนี้จากปี 2553 (ค.ศ. 2010) เป็นปี 2546 (ค.ศ. 2003) ยกเว้น เวียดนาม ลาว และกัมพูชาจะพยายามเปิดเสรีด้านการลงทุนไม่ช้ากว่าปี 2553 (ค.ศ. 2010) และขณะนี้ กำลังพิจารณาความเป็นไปได้ในการเร่งเปิดเสรีแก่นักลงทุนนอกอาเซียนให้เร็ว ขึ้นกว่าปี 2563 (ค.ศ. 2020) นอกจากนี้ อาเซียนยังได้ขยายขอบเขตความตกลง AIA ให้ครอบคลุมความร่วมมือด้านการค้าบริการ โดยมีการเจรจาเปิดเสรีการค้าบริการใน 7 สาขา (การขนส่งทางทะเล การขนส่งทางอากาศ การเงินการคลัง วิชาชีพธุรกิจ การก่อสร้าง การคมนาคม และการท่องเที่ยว) โดยมีเป้าหมายให้การเปิดเสรีครอบคลุมทุกสาขาบริการภายในปี 2020 นอกจากนี้ มีความร่วมมือด้านการเชื่อมเส้นทางด้านคมนาคมและการขนส่งสินค้าผ่านแดน รวมทั้งโครงการความร่วมมืออาเซียนด้านการพัฒนาลุ่มน้ำโขง เพื่อเป็นการส่งเสริมและเพิ่มพูนความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจของอาเซียนให้มี ความแข็งแกร่งและ ครอบคลุมสาขาต่าง ๆ ให้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ไทยมีบทบาทสำคัญในเรื่องการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจภายในอาเซียนให้มากขึ้น โดยได้เสนอให้มีการจัดทำความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้า ผ่านแดนและข้ามแดน ซึ่งจะเอื้ออำนวยให้การขนส่งสินค้าภายในอาเซียนมีความคล่องตัว และช่วยส่งเสริมการดำเนินการในเรื่องเขตการค้าเสรีอาเซียน ซึ่งที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 6 เมื่อธันวาคม 2541 ได้มีการลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าผ่านแดน แล้ว
ในด้านความร่วมมือด้านการคลัง ภายหลังจากเกิดวิกฤตการณ์ด้านการเงินและ เศรษฐกิจในภูมิภาค อาเซียนได้เสริมสร้างการหารือระหว่างกัน และจัดตั้งกลไกตรวจสอบในภูมิภาค (regional surveillance mechanism) รวมทั้งร่วมมือกับนานาประเทศเพื่อพิจารณาปรับโครงสร้าง การเงินระหว่างประเทศ (international financial architecture)
ความร่วม มือด้านสังคม ความร่วมมือทางด้านสังคมหรือความร่วมมือ เฉพาะด้าน (Functional Cooperation) ของอาเซียน เป็นความร่วมมือด้านอื่น ๆ ที่มิใช่ด้านการเมือง และเศรษฐกิจ ซึ่งมี 5 ด้าน ได้แก่ ด้านการพัฒนาสังคม ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านยาเสพติด และด้านวัฒนธรรมและสนเทศ โดยมีคณะกรรมการต่าง ๆ ทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบ เพื่อให้การดำเนินกิจกรรม/โครงการต่าง ๆ ของอาเซียนที่เกี่ยวข้องสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี การส่งเสริม พัฒนาการความร่วมมือในด้านดังกล่าวนับเป็นวัตถุประสงค์เบื้องต้นประการหนึ่ง ของอาเซียนเพื่อ ส่งเสริมให้ประชาชนในอาเซียนมีความเป็นอยู่และมีคุณภาพชีวิตที่ดีทัดเทียม กับประชาชนในประเทศ ที่พัฒนาแล้ว ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 5 ที่ประชุมได้ลงนามร่วมกันใน “ปฏิญญากรุงเทพ ปี 2538” (the 1995 Bangkok Declaration) เพื่อประกาศเจตจำนงที่จะให้มีการยกระดับความร่วมมือ เฉพาะด้านให้ทัดเทียมกับความร่วมมือทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจของอาเซียน อาเซียนได้ให้ ความสำคัญเป็นอย่างมากในเรื่องการยกระดับความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยี เพื่อให้ประชาชน ตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของการ คุ้มครองและ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรมและสนเทศ ของอาเซียนนับเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชน ชาวอาเซียน ตลอดจน ปลุกจิตสำนึกในความเป็นอาเซียน (ASEAN Awareness)
ความ ร่วมมือทางด้านสังคมในกรอบอาเซียนได้พัฒนามาเป็นลำดับตามสภาพ แวดล้อม ความต้องการของประเทศสมาชิก และกระแสของโลกาภิวัตน์ ซึ่งเป็นผลให้อาเซียนมีการ จัดตั้งกลไกความร่วมมือในภูมิภาคเพื่อสนองต่อการเปลี่ยนแปลงและความจำเป็น ที่จะต้องมีการร่วมมือ กันในระดับภูมิภาค ได้แก่ การพัฒนาชนบทและการขจัดความยากจน โครงข่ายรองรับทางสังคม อาชญากรรมข้ามชาติ และสวัสดิการสังคมและการพัฒนาสังคม ทั้งนี้ เพื่อมุ่งผลักดันให้อาเซียนบรรลุ เป้าหมายในการเป็นสังคมที่เอื้ออาทรต่อกันตามวิสัยทัศน์อาเซียน ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563)
ไทยเล็งเห็นความสำคัญของการร่วมมือด้านสังคมเพื่อสันติสุข ในภูมิภาค จึงผลักดันให้อาเซียนกระชับความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาข้ามชาติ อาทิ อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ปัญหายาเสพติดและการฟอกเงิน โรคเอดส์ การลักลอบเข้าเมือง รวมทั้ง ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การแก้ไขปัญหาหมอกควัน เป็นต้น นอกจากนั้น ไทยยังได้เสนอให้มีการจัดตั้งมูลนิธิอาเซียน (ASEAN Foundation) เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและนักวิชาการ ตลอดจนการเข้ามามี ส่วนร่วมของประชาชนในกิจกรรมต่าง ๆ ของอาเซียน ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างจิตสำนึกในความเป็นอาเซียน และการให้ความสำคัญต่อเรื่องการจัดทำโครงข่ายรองรับทางสังคม (Social Safety Nets) เพื่อบรรเทา ผลกระทบทางด้านสังคมจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในปัญหาความยากจน การว่างงาน ปัญหาเด็กนอกโรงเรียนและผู้ยากไร้
นอก จากนี้ ไทยยังมีนโยบายในอันที่จะพยายามกระตุ้นให้อาเซียนเป็นสังคมเปิดและมีความ เอื้ออาทร มีจิตสำนึกในความเป็นชุมชนหนึ่งเดียว ไทยได้เสริมสร้างความไพบูลย์มั่งคั่งร่วมกัน โดยการพัฒนามนุษย์โดยรวม (Total Human Development) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสังคมในระยะยาว การสร้างผู้นำรุ่นใหม่ในภูมิภาค โดยใช้การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HRD) เป็นกลไกในการลดช่องว่าง ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน และส่งเสริมการรวมตัวของอาเซียน
เมื่อเดือนกรกฎาคม 2544 ที่ผ่านมา ไทยได้ผลักดันให้อาเซียนมีมติรับรอง ให้ปี พ.ศ. 2545-2546 เป็นปีแห่งการปลุกจิตสำนึกในการต่อต้านยาเสพติดในอาเซียน และสนับสนุนให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 7 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2544 รับรองปฏิญญาที่ประชุม สุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 7 ว่าด้วยโรคเอดส์ เนื่องจากปัญหาทั้งสองได้ก่อให้เกิดความสิ้นเปลืองทรัพยากรแก่ประเทศไทยใน การแก้ไขเป็นจำนวนมาก และจำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือระดับภูมิภาคในการควบคุมปัญหาดังกล่าว ให้มีผลสัมฤทธิ์อย่างมีประสิทธิผล
ความร่วมมือทางสังคมได้เอื้อประโยชน์ ต่อการพัฒนาในประเทศไทยเป็น จำนวนมาก และส่งเสริมให้มีบรรยากาศแห่งความร่วมมือกันเพื่อการพัฒนา ซึ่งสะท้อนไปสู่การมี เสถียรภาพ สันติสุข และความก้าวหน้าในภูมิภาค
วิสัยทัศน์อาเซียน ปี 2020 และแผนปฏิบัติการฮานอย
ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 2 เมื่อเดือนธันวาคม 2540 (ค.ศ. 1997) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ไทยเป็นผู้ริเริ่มให้ผู้นำรัฐบาลอาเซียนรับรองเอกสาร วิสัยทัศน์อาเซียน ค.ศ. 2020 (ASEAN Vision 2020) ในโอกาสครบรอบ 30 ปี การก่อตั้งอาเซียนโดยวิสัยทัศน์ดังกล่าวได้กำหนดทิศทางและเป้าหมายของการ ดำเนินการในด้านต่าง ๆ ให้ครอบคลุมทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม รวมทั้งการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศภายนอก ประเด็นสำคัญที่ไทยผลักดันจนสำเร็จ ได้แก่ การบรรจุแนวความคิดที่ให้ประเทศสมาชิกอาเซียนพัฒนาเป็นสังคมที่เปิดกว้าง (open societies) และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ (people participation) โดยอาเซียนได้จัดทำแผนปฏิบัติการสำหรับวิสัยทัศน์อาเซียน ค.ศ. 2020 (Hanoi Plan of Action to Implement the ASEAN Vision 2020) ในระหว่าง การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 6 เมื่อเดือนธันวาคม 2541
การจัดทำแผน ปฏิบัติการฮานอยหรือ HPA ดังกล่าว เป็นพัฒนาการที่สำคัญยิ่งอีกก้าวหนึ่งของอาเซียน อันจะนำไปสู่ชุมชนอาเซียนที่เอื้ออาทรและมีความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ซึ่ง HPA จะนำเป้าหมายต่าง ๆ ภายใต้วิสัยทัศน์อาเซียน 2020 ไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมภายในกำหนดเวลาที่ชัดเจน และมีการประเมินผลทุก 3 ปี โดยได้มีการกำหนดกิจกรรมและโครงการที่จะนำไปสู่เป้าหมายในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และความร่วมมือเฉพาะด้าน (functional cooperation) ซึ่งรวมถึงเรื่องการพัฒนาสังคม วัฒนธรรมและสนเทศ ยาเสพติด สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้มีผล เป็นรูปธรรม
ในด้านการเมือง แผนปฏิบัติการฮานอย มุ่งส่งเสริมให้ภูมิภาคนี้มีเสถียรภาพ เสรีภาพ เป็นกลาง เจริญก้าวหน้าและมีความมั่งคั่งร่วมกัน เพื่อสามารถเร่งระดมทรัพยากรไปในด้าน การพัฒนาประเทศและสร้างความเจริญผาสุกให้แก่ประชาชาน ในด้านเศรษฐกิจ เป็นการยืนยันความ มุ่งมั่นที่จะเปิดเสรีและร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกันเพื่อเผชิญ กับวิกฤตการณ์ด้านเศรษฐกิจของภูมิภาค และในด้านสังคม ประเทศไทยได้เสนอโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ในเรื่องโครงข่ายรองรับทางสังคมเพื่อปกป้องผู้ที่อ่อนแอและยากไร้ในสังคม การคุ้มครองสตรีและเด็ก การส่งเสริมความสามารถของครอบครัวและชุมชนในการดูแลผู้สูงอายุและผู้พิการ การป้องกันการแพร่กระจายของโรคเอดส์ การส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน การควบคุมการลักลอบค้ายาเสพติด การร่วมมือป้องกันปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ การเปิดโอกาสให้ชนทุกระดับได้รับความเท่าเทียมกันในการได้รับการศึกษา การ ฝึกอบรมวิชาชีพการพัฒนาทักษะแก่สตรีให้สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการพัฒนาสมรรถภาพของข้าราชการพลเรือนเพื่อสนองตอบต่อความต้องการของ ประชาชน
บทบาทของไทยในช่วงที่ดำรงตำแหน่งประธาน ASC
ในช่วงที่ไทยดำรงตำแหน่งประธาน ASC สมัยที่ 33 (กรกฎาคม 2542 - กรกฎาคม 2543) ไทยได้เน้นในเรื่องของการพัฒนาที่สมบูรณ์และยั่งยืน โดยนำประโยชน์สู่ประชาชน (Towards a Comprehensive Development Agenda) โดยได้พยายามผลักดันในเรื่องต่อไปนี้
การเสริมสร้างการหารือร่วมกัน จากสภาวะการณ์ของโลกในปัจจุบันที่เข้าสู่ยุค โลกาภิวัตน์ได้ทำให้ประชาคมโลกสามารถรับทราบข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ระหว่างกันและกันได้อย่างรวดเร็วและครอบคลุมอย่างทั่วถึง ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความเกี่ยวข้องกับประเทศต่าง ๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้ประเทศ/กลุ่มประเทศรวมถึงอาเซียน ต้องมีการปรับตัวให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และพร้อมที่จะเผชิญกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น ไทยจึงเห็นว่าอาเซียนควรมีกลไกการหารือระหว่างกันที่ซึ่งจะช่วยเสริมสร้าง ความเข้าใจระหว่างกัน นโยบาย Flexible Engagement หรือ Enhanced Interaction ไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะเข้าไปก้าวก่ายในกิจการภายในของประเทศสมาชิก แต่ สถานการณ์ได้แสดงให้เห็นว่า บางเรื่องที่มีผลกระทบต่ออาเซียนโดยรวมและส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของ ภูมิภาคควรได้รับการปรึกษาหารือร่วมกัน เป็นการเปิดโอกาสให้มีการให้คำปรึกษาในฐานะเพื่อน เพื่อรับฟังความคิดเห็นในหลาย ๆ ด้าน ในการนี้ ไทยได้ผลักดันการจัดตั้ง ASEAN Troika เพื่อเป็น กลไกในการเสริมสร้างการหารือและประสานงานในอาเซียนเพื่อเผชิญกับเหตุการณ์ ที่อาจเกิดขึ้นใน ภูมิภาค นับได้ว่าเป็นการปรับปรุงการทำงานของอาเซียนให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น
การ พัฒนากลไกระงับข้อพิพาทสำหรับภูมิภาค อาเซียนในอนาคตควรเป็นองค์กรที่มีกลไกการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน เพื่อขจัดความขัดแย้งและสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน ทั้งนี้ โดยมุ่งพัฒนากรอบความร่วมมือที่อาเซียนมีอยู่ในปัจจุบัน อาทิ ตามสนธิสัญญา TAC ซึ่งมีกลไกคณะ อัครมนตรี (High Council) เพื่อการแก้ไขข้อพิพาทระหว่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน สมัยที่ 34 (23-24 กรกฎาคม 2544) อาเซียนได้ให้ความเห็นชอบระเบียบข้อบังคับสำหรับการดำเนินงานของกลไกดัง กล่าว และกำลังเชิญชวนให้ประเทศคู่เจรจาของ อาเซียนเข้าเป็นภาคีในสนธิสัญญา TAC โดยในอนาคตหวังที่จะพัฒนา TAC ให้เป็นหลักในการดำเนินความสัมพันธ์ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกโดยรวม นอกจากนั้น ไทยสนับสนุนการจัดทำร่าง Regional Code of Conduct ในทะเลจีนใต้ เพื่อเป็นหลักการและแนวทางปฏิบัติระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและต้องใช้เวลา เนื่องจากต้องได้รับฉันทามติจากทุกประเทศ สำหรับ ARF นั้น ไทยมีความตั้งใจที่จะส่งเสริมให้อาเซียนมีบทบาทที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นในกระบวน การ ARF เพื่อให้ ARF เป็นกลไกที่สามารถส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศที่เข้าร่วมได้ อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถก้าวไปสู่การทูตเชิงป้องกัน (Preventive Diplomacy - PD)
การเสริมสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงและ ความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจ ไทยหวังว่าอาเซียนในอนาคตจะมีระบบเศรษฐกิจที่มีการรวมตัวอย่าง แข็งแกร่ง มีประสิทธิภาพและสามารถพึ่งพาตัวเอง ไทยได้พยายามผลักดันให้อาเซียนขยายมาตรการ เปิดเสรีทั้งในแนวดิ่งและแนวกว้าง (deepening and broadening) และเพิ่มการประสานนโยบายกัน อย่างใกล้ชิดมากขึ้น ควรยกระดับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ (Elevation of Economic Cooperation) โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการค้า การลงทุน การขนส่ง การเงิน และนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ไทยหวังว่าความร่วมมือของอาเซียนจะเน้นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจของภูมิภาค แบบพลวัตร (dynamic economic region) ที่มุ่งปรับโครงสร้างด้านเศรษฐกิจและสังคมให้มีความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ และสามารถ แข่งขันกับประชาคมโลก รวมทั้งการกระชับความร่วมมือด้านการเมืองและการประสานงานระหว่างประเทศต่าง ๆ ทั้งภายในและกับประเทศอื่น ๆ นอกภูมิภาคด้วย
การพัฒนาด้านมนุษย์ อาเซียนในอนาคตควรให้ความสำคัญต่อการพัฒนามนุษย์โดยรวม (Total Human Development) โดยการยกระดับความเป็นอยู่ การศึกษา สาธารณสุข การเคารพสิทธิของประชาชนและยึดถือหลักประชาธิปไตย และตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยเฉพาะในการพัฒนาความเป็นอยู่ การมีส่วนร่วม ความโปร่งใส ฯลฯ ทั้งนี้ ความร่วมมือด้านการศึกษาในระดับ ภูมิภาคที่เป็นรูปธรรมอาจมีการจัดทำเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (ASEAN University Network) เพื่อเชื่อมโยงมหาวิทยาลัยของภูมิภาค และการพิจารณาจัดตั้งมหาวิทยาลัยเสมือน (ASEAN Virtual University) โดยใช้อินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีทันสมัย
การประสานความร่วมมือในกรอบลุ่ม น้ำโขง ในปัจจุบันความร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำโขงมีการดำเนินงานในหลายกรอบ อาทิ ความร่วมมือภายใต้กรอบ Greater Mekong Sub-region-GMS ความร่วมมือระหว่างรัฐมนตรีเศรษฐกิจของอาเซียนและญี่ปุ่น (AMEICC) และความ ร่วมมือในเหลี่ยมเศรษฐกิจอื่น ๆ ไทยประสงค์ที่จะให้มีการประสานความร่วมมือระหว่างกรอบต่าง ๆ ดังกล่าวเพื่อให้มีทิศทางการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพและใช้ทรัพยากรอย่างคุ้ม ค่า และตอบสนองความต้องการของประเทศในภูมิภาคอย่างแท้จริง ในการนี้ ไทยได้ผลักดันให้สหประชาชาติประกาศให้ปี ค.ศ. 2000 - 2009 เป็น ทศวรรษแห่งการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Decade for Greater Mekong Sub-region Development)
การรวมตัวของอาเซียนทิศทางของอาเซียนในอนาคต แม้จะมีความแตกต่างด้านเชื้อชาติ ศาสนา ระดับการพัฒนา ระบบการปกครอง แต่อาเซียนควรมีความปรองดองและมีเอกภาพ เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนในส่วนรวม ทั้งนี้ เอกภาพของอาเซียนจะต้องตั้งอยู่บนหลักของความถูกต้องและเคารพซึ่งกันและกัน ความยืดหยุ่น ความเอื้ออาทร และการมีส่วนร่วมของประชาชน ฯลฯ ตามเจตนารมย์ที่ไทยได้ระบุไว้ในวิสัยทัศน์อาเซียน ปี ค.ศ. 2020 ภายใต้หัวข้อ "Open and Caring Societies" รวมถึงการสนับสนุนการพัฒนาสังคมโดยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HRD) ซึ่งจะเป็นกลไกที่จะนำไปสู่การลดช่องว่างระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและการ รวมตัวของอาเซียนในระยะยาว และไทยผลักดันให้รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนลงนามในปฏิญญาร่วมว่าด้วยสังคม ที่เป็นปึกแผ่นและ เอื้ออาทรในอาเซียน (Joint Declaration for a Socially Cohesive and Caring Society) ซึ่งเป็นเอกสาร ที่ครอบคุลมเจตนารมย์ด้านสังคมที่แสดงความมุ่งมั่นทางการเมืองของอาเซียนที่ จะร่วมกันแก้ไขผลกระทบด้านสังคมจากวิกฤตการณ์ในภูมิภาค และการระดมเงินทุนจากต่างประเทศ
ไทยได้เป็นประธานคณะทำงานเพื่อพิจารณา กฎเกณฑ์ (criteria) การรับประเทศ คู่เจรจาใหม่ เนื่องจากอาเซียนได้ชะลอการพิจารณา (moratorium) เรื่องนี้ไว้ชั่วคราว และปัจจุบันมีประเทศ/กลุ่มประเทศที่ได้ยื่นเรื่องอย่างเป็นทางการเพื่อขอ เป็นประเทศคู่เจรจาของอาเซียน 3 ประเทศ ได้แก่ ปากีสถาน เม็กซิโก และกลุ่มประเทศ Andean นอกจากนี้ มีประเทศที่ยื่นขอเป็นประเทศคู่เจรจาเฉพาะสาขา (sectoral dialogue) รวม 4 ประเทศ ได้แก่ อิหร่าน อียิปต์ ไต้หวัน และเม็กซิโก
การพิจารณาปรับปรุง รูปแบบ หัวข้อการหารือ และทิศทางของการหารือระหว่าง รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนและรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศคู่เจรจา (PMC) เนื่องจากปัจจุบัน การประชุมภายใต้กรอบ PMC ไม่ได้รับความสนใจจากประเทศคู่เจรจา อาเซียนจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงรูปแบบและหัวข้อการหารือให้มีประสิทธิภาพและ มีผลในทางรูปธรรม และพิจารณาหัวข้อที่อาจเป็น จุดเด่นสำหรับการประชุม PMC ในแต่ละครั้ง อย่างเช่นที่ไทยได้เสนอให้มีการพิจารณาเรื่อง Social Safety Nets และการรวมตัวของอาเซียนในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน สมัยที่ 33
การเสริมสร้างความร่วมมือ/การเชื่อมโยงกับภูมิภาคอื่น ๆ เพิ่มเติมจากกรอบ APEC และ ASEM โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศในเอเชียตะวันออกในกรอบ ASEAN+3, East Asia Cooperation และในเขตเศรษฐกิจอื่น ๆ เช่น ระหว่าง CER ของออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ และกลุ่มประเทศในละตินอเมริกา ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8-9 พฤษภาคม 2543 ไทยได้จัดการประชุมว่าด้วยความ ร่วมมืออาเซียน-แอนเดียนในสหัสวรรษใหม่ (ASEAN-Andean Symposium) ครั้งที่ 1 เพื่อเป็นการ แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในเรื่องการขยายความสัมพันธ์ด้านการค้า การลงทุน และการแลกเปลี่ยนในด้านต่าง ๆ ระหว่างอาเซียนและกลุ่มประเทศ Andean ซึ่งเป็นความพยายามที่จะให้อาเซียนขยายบทบาท และความสัมพันธ์ไปสู่ภูมิภาคอื่น ๆ (ประชาคมแอนเดียนเป็นกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจใน ลาติน อเมริกา ประกอบด้วย โบลิเวีย โคลัมเบีย เอกวาดอร์ เปรู และเวเนซูเอลา)